ในยุคที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุค industry 4.0 ซึ่ง เป็นแนวคิดใหม่ที่เป็นเสมือนการปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งใหม่ล่าสุด ที่มีจุดเด่น คือ การพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารกับเครื่องจักร และระบบการผลิตในลักษณะ industrial automation เพื่อผลิตสินค้าตามความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค แต่ยังรักษาประสิทธิภาพ การผลิตที่สูง โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการผลิต เช่น 3D Printing, Augmented reality, Big data and analytics, Autonomous Robots, Simulation, Horizontal and vertical system integration, Smart Factor, Cybersecurity, The Cloud เป็นต้น
จุดเด่นของ อุตสาหกรรม 4.0 คือการที่เครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติสามารถเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเครือข่ายผ่านอินเตอร์เน็ต จึงสามารถแบ่งปันข้อมูลข่าวสารถึงกันหมด รวมทั้งสามารถใช้ทรัพยากรบางส่วนร่วมกันได้ เครื่องจักรกลใน อุตสาหกรรม 4.0 จะมีความสามารถที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในด้านการทำงานด้วยตนเอง ความยืดหยุ่นและการปรับตัวให้เข้ากับเงื่อนไขการผลิต มีความสามารถในการตรวจสอบและคาดการณ์ล่วงหน้าได้ นอกจากนี้เครื่องจักรในอนาคตจะมีโปรแกรมสำหรับตรวจสอบและดูแลสุขภาพของเครื่องจักร เพื่อยืดอายุการทำงานของเครื่องจักร อันจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวางแผนการผลิตและประเมินประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่องจักร กล่าวคือ เครื่องจักรจะมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นนั่นเอง
นอกจากตัวเครื่องจักรที่เป็นอัจฉริยะแล้ว โรงงานในยุค อุตสาหกรรม 4.0 ก็จะมีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้นด้วย โดยที่โรงงานอัจฉริยะจะสามารถกำหนดและระบุกิจกรรมเงื่อนไขรวมทั้งสภาพแวดล้อมของการผลิต สามารถสื่อสารกับหน่วยอื่นๆ ได้อย่างอิสระแบบไร้สาย สามารถผลิตสินค้าตามคำสั่งโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น เวลา ต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง การรักษาความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ เป็นระบบการผลิตที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด
Industry 4.0 แตกต่างจากอุตสาหกรรมยุคอื่นอย่างไร
อุตสาหกรรมนั้นมีการพัฒนาตามยุคสมัย โดยยุคแรกหรือยุคอุตสาหกรรม 1.0 ในราวปีค.ศ.1800 ถือเป็นยุคของการผลิตด้วยเครื่องจักรกล โรงงานในสมัยนั้นจะใช้เครื่องจักรไอน้ำ แรงงานคนและสัตว์ ต่อมาในยุคอุตสาหกรรม 2.0 ช่วงปีค.ศ.1900 ซึ่งเป็นยุคของการผลิตจำนวนมาก เริ่มมีการใช้พลังงานไฟฟ้าแทนไอน้ำ ทำให้ผลิตสินค้าได้รวดเร็วมากขึ้น รวมถึงมีการผลิตสินค้าแบบเดียวกันได้เป็นจำนวนมาก
ถัดมาในปีค.ศ.2000 หรือเข้าสู่ยุค 3.0 ยุคของการผลิตแบบอัติโนมัติ อยู่ในช่วงรอยต่อของปัจจุบันและอนาคต ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์และไอทีเป็นหลัก โดยเริ่มมีการนำหุ่นยนต์และคอมพิวเตอร์เข้ามาควบคุมการผลิตและทดแทนพลังงานมนุษย์มากยิ่งขึ้น
มาจนถึง โลกแห่งอนาคตต่อจากนี้หรือที่เรียกว่า “อุตสาหกรรม 4.0” หรือ ยุคของการผลิตระบบดิจิทัล คือการนำเครือข่ายของโรงงานทั้งหมดมาเชื่อมโยงเข้าหากันเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพจากศูนย์กลางหนึ่งเดียวที่ควบคุมด้วย AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีหลักๆ ที่นำมาใช้ อาทิ หุ่นยนต์ ระบบเซ็นเซอร์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบคลาวน์ ที่มุ่งเป้าในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
เทคโนโลยีที่เป็นกุญแจสำคัญใน Industry 4.0
- Big Data คือการเก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทั้งหมดทั้งภายในและภายนอก เพื่อนำมาวิเคราะห์เพื่อค้นพบสิ่งต่าง ๆ ด้วยการทำ Analytics จะทำให้เราสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้น (Smarter Decisions)
- Smart Factory คือแนวคิดที่จะเชื่อมโยงส่วนต่าง ๆ ในการผลิต ตั้งแต่การวางแผนจนถึงการผลิตจริงเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะได้ตัดสินใจปรับเปลี่ยนการผลิตให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างชาญฉลาด
- Cyber-physical System (CPS) คือการบูรณาการ คอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่าย และกระบวนการผลิตเข้าด้วยกัน ระบบคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายจะคอยควบคุมและมอนิเตอร์กระบวนการผลิตและทำการส่งข้อมูลย้อนกลับ (feedback loops)
- Internet of Thing (IoT) คือการเชื่อมโยงอุปกรณ์ เช่น เซ็นเซอร์ หรือเครื่องจักร กับอินเตอร์เน็ต
- Interoperability คือการนำส่วนประกอบที่กล่าวมาทั้ง 4 ส่วนข้างต้นให้ทำงานประสานกัน เป็นการเชื่อมโยง Cyber Physical System, คน และ Smart Factory ผ่านการสื่อสารด้วย IoT
ทั้งหมดนี้รวมเป็นหนึ่งเดียว ช่วยลดความยุ่งยากด้วยระบบอัลกอริธึมที่ควบคุม รวมถึงเชื่อมต่อเครื่องจักรต่างๆ เข้าด้วยกัน และด้วยจุดนี้เอง ที่ทำให้ระบบของโรงงานในอุตสาหกรรม 4.0 ก้าวกระโดดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการทำงานได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
แน่นอนว่าอุตสาหกรรม 4.0 นั้น จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตรวมทั้งการดูแลคุณภาพของสินค้า โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่กำลังพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว อาจทำให้อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับ อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวคือไม่สามารถวิเคราะห์ว่าธุรกิจของตนเองนั้นคุ้มค่าเพียงพอที่จะก้าวไปสู่การประยุกต์ใช้แนวคิดของ อุตสาหกรรม 4.0 หรือยัง และถ้าพร้อมแล้วต้องเตรียมการก้าวเข้าสู่ความเป็น Industry 4.0 อย่างไร ดังนั้น การปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลง การเตรียมความพร้อมด้วยการตามติดเทรนด์ใหม่ๆ เพื่อนำไปอัพเดทขีดความสามารถในการผลิต จะทำให้คุณสามารถก้าวไปที่ละก้าวได้อย่างมั่นคง และออกแบบโซลูชั่นให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาโรงงานของคุณ
ที่มา :
- http://xn--40-lqi9evcla7cjr1dyd.com
- https://www.aiteam.co.th
- https://www.nstdaacademy.com
- https://www.tetrapak.com/