ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการผลิตสำหรับอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว แม้ว่าบางอุตสาหกรรมจะเชื่อว่าใช้ได้เฉพาะกับผลิตภัณฑ์ที่อาจมีการเรียกคืนเท่านั้น เช่น อาหาร รถยนต์ หรือเครื่องบิน แต่การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ควรเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการของผู้ผลิตทุกราย
เมื่อพิจารณาถึงข้อได้เปรียบด้านต้นทุน ทรัพยากร และความสามารถในการผลิตที่มีนัยสำคัญแล้ว จึงไม่ยากที่จะเข้าใจว่าทำไม การใช้ระบบ Tracking และ Tracing ขั้นสูง ทำให้องค์กรสามารถควบคุมระบบได้ละเอียดยิ่งขึ้นในกระบวนการผลิต ซึ่งช่วยให้พวกเขาสร้างผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยขึ้น มีคุณภาพสูงขึ้น และสร้างกระบวนการที่สามารถปรับให้เหมาะสมสำหรับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) คืออะไร?
ความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) คือความสามารถในการติดตามสินค้าตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่าย ซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตติดตามแต่ละส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ จากซัพพลายเออร์ ผ่านกระบวนการผลิต และไปจนถึงผู้บริโภคในขั้นสุดท้าย
ความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ถูกควบคุมโดย ISO 8402 ซึ่งกำหนดเป็น “ความสามารถในการติดตามประวัติ การใช้งาน หรือตำแหน่งของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเปรียบเสมือนบัตรประจำตัวที่มีข้อมูลต่างๆ บันทึกไว้ ซึ่งองค์กรที่ใช้ระบบนี้จะสามารถเข้าถึงข้อมูลของผลิตภัณฑ์ได้ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ ซึ่งรวมถึง :
– แหล่งที่มาของส่วนประกอบ
– บันทึกการตรวจสอบ
– Production lifecycle
– เวลาที่ใช้ในแต่ละ Workstation
– ปลายทางของสินค้า
ความสามารถในการตรวจสอบย้อนเป็นการมุ่งเน้นไปที่การ Tracking และ Tracing ผลิตภัณฑ์อย่างแม่นยำเป็นหลัก โดย Tracking ช่วยให้องค์กรสามารถติดตามความคืบหน้าของผลิตภัณฑ์ได้ตลอดกระบวนการผลิต (บางครั้งจากซัพพลายเออร์ด้วย) และไปจนถึงผู้บริโภคในขั้นสุดท้าย ส่วน Tracing ช่วยให้องค์กรสามารถติดตามลำดับการผลิต ค้นพบแหล่งที่มาและประวัติของผลิตภัณฑ์ได้
ทำไมการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) จึงมีความสำคัญ
เนื่องจากปัจจุบันมีโรงงานและผู้ผลิตจำนวนมากขึ้นที่เปลี่ยนจากการผลิตแบบ Analog ไปเป็นกระบวนการดิจิทัล จึงเห็นได้ชัดว่าความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับคืออนาคตของการผลิต
เมื่อเทคโนโลยีได้เข้ามาปฏิวัติกระบวนการผลิต ซึ่งนำไปสู่การประหยัดต้นทุนและทรัพยากรมากขึ้น และในขณะที่ Industry 4.0 ยังคงเพิ่มความเร็วในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้องค์กรต่างๆ เริ่มได้รับประโยชน์จากการผลิตที่ใช้ระบบเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเต็มที่ ผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับที่แข็งแกร่ง
ยังมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ที่ทำให้การตรวจสอบย้อนกลับมีความสำคัญสำหรับผู้ผลิตอีกหลายประการ เช่น :
– Product Recall : ระบบตรวจสอบย้อนกลับมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และใช้ต้นทุนต่ำ ซึ่งไม่เพียงแต่มาช่วยในการจัดการกระบวนการผลิตในองค์กรให้ดีขึ้นได้เท่านั้น แต่การตรวจสอบย้อนกลับยังช่วยป้องกันการเรียกคืนผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย
– Quality Control : ด้วยการควบคุมระดับสูงในกระบวนการผลิต การตรวจสอบย้อนกลับช่วยกระตุ้นให้มีการควบคุมคุณภาพแบบละเอียด ซึ่งมีความสำคัญในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ยานยนต์ การผลิตอาหาร และการป้องกันประเทศ
– Operational Efficiency : บ่อยครั้งที่กระบวนการผลิตเกิดของเสีย การค้นพบปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยป้องกันปัญหานี้ได้ ซึ่งการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) สามารถเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เพื่อให้มีประสิทธิภาพและลดการสูญเสียทรัพยากรลงได้
– Customer satisfaction : ท้ายที่สุดแล้ว ธุรกิจคือการแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคและวางตำแหน่งตัวเองเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่น ด้วยระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่แข็งแกร่งสามารถช่วยให้ผู้ผลิตอยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งช่วยตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุม
ประโยชน์ของการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability)
องค์กรที่เริ่มใช้ระบบการตรวจสอบย้อนกลับสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมากและสามารถจัดการวิธีการผลิตและการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตนได้ รวมถึงสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาในการผลิตได้อย่างง่ายดาย
การเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาจเป็นฝันร้ายสำหรับผู้ผลิต ซึ่งนำไปสู่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และยังสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของแบรนด์ รวมถึงส่วนแบ่งการตลาด จากคำเตือนของ Harvard Business Review ที่กล่าวไว้ว่าปัญหานี้เกิดขึ้นได้ในทุกธุรกิจ โดยไม่สนว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประเภทใดก็ตาม
ด้วยการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ ทำให้องค์กรสามารถป้องกันปัญหาในการผลิตที่อาจเกิดขึ้นได้และให้ประโยชน์กับผู้ผลิตหลายประการ ได้แก่ :
– การวิเคราะห์เพื่อสาเหตุที่แท้จริง : ระบบการตรวจสอบย้อนกลับทำให้ง่ายต่อการระบุปัญหาที่อาจเกิดขึ้นก่อนจัดส่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งสามารถคาดการณ์ขอบเขตของปัญหาได้อย่างแม่นยำ และแยกสาเหตุที่แท้จริงได้
– การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง : องค์กรสมัยใหม่เป็นแบบลีน คล่องตัว และยืดหยุ่น ซึ่งระบบการตรวจสอบย้อนกลับสนับสนุนการนำกระบวนการผลิตแบบลีนมาใช้ ช่วยลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุดและส่งเสริมให้มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
– สร้างคุณค่าให้องค์กร : ด้วยการควบคุมกระบวนการผลิตที่ดียิ่งขึ้น ทำให้องค์กรต่างๆ สามารถเข้าใจได้ดีขึ้นว่าอะไรที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวหรือประสบความสำเร็จ และสามารถนำไปปรับปรุงได้อย่างเหมาะสม
– การปฏิบัติตามข้อบังคับ : ภูมิภาคต่างๆ เช่น EU จำเป็นต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับในบางอุตสาหกรรม เช่น การผลิตอาหาร อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ยานยนต์ การบินและอวกาศ และการป้องกัน ซึ่งทำให้บางอุตสาหกรรมยังต้องการโปรแกรมการตรวจสอบย้อนกลับที่เข้มงวด (สามารถดูรายละเอียดโปรแกรมได้ที่ : traceability Report )
– หลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการไม่ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ : ความผิดพลาดของผลิตภัณฑ์ เป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับผู้ผลิต ซึ่งสามารถทำให้ปัญหานี้ลดลงและหลีกเลี่ยงได้โดยใช้ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ โดยต้องแน่ใจว่าระบบที่ใช้ครอบคลุมกระบวนการการผลิตทั้งหมด
– การผลิตทั่วโลกที่มีประสิทธิภาพ : ในยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องรักษาห่วงโซ่อุปทาน การผลิต และการกระจายสินค้าทั่วโลก แต่ด้วยระยะทางที่ห่างไกลอาจทำให้หลายอย่างเกิดความผิดพลาดได้ แต่ความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจะถูกควบคุมให้เหลือน้อยที่สุด และจัดเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นในการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดปัญหาขึ้น
เรียกได้ว่าระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) มีประโยชน์กับผู้ผลิตเป็นอย่างมาก ยิ่งในปัจจุบันคุณภาพสินค้าถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภค และยังมีข้อกำหนดและมาตรฐานของสินค้าที่เข้มงวดมากขึ้น ดังนั้น ระบบการตรวจสอบสอบย้อนกลับจึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในอนาคต ผู้ผลิตจึงควรเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ในขณะที่ผู้บริโภคเองก็ควรตรวจสอบสินค้าเพื่อความปลอดภัยของตนเองด้วยเช่นกัน
เรียบเรียงและแปลข้อมูลจาก :
- https://forcam.com/en/what-is-traceability/
- https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_30614